วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

INKTANK กับตลับ HP#22 แบบไม่ไหลย้อนกลับ

ถือว่าเป็นภาค 2 ของบล็อกที่แล้ว เมื่อผมยำตลับเบอร์ 22 ของ HP ซึ่งเป็นตลับที่แถมมากับปริ๊นเตอร์ D2460 โดยใช้ทั้งการฉีดหมึก การใส่อิ้งค์แท้งค์(แบบเจาะรูผิด) รวมทั้งการเอาสายยาง ไปสวมต่อกับปลายข้องอ คล้ายๆกับข้องอแบบมีเข็ม ฯลฯ


ฟองน้ำภายในคงจะกระทบกระเทือนมากพอสมควร เนื่องจากที่ผมเอาสายยางไปสวมเพิ่มความยาวของข้องอนั้น พอเสียบลงไปในฟองน้ำ สายยางเกิดพับตัว ใช้งานไม่ได้ ก็ต้องดึงออก ลองไปลองมา ปรากฏว่าฟองน้ำในช่องสีแดงไม่ยอมอุ้มน้ำหมึก พอเห็นแววว่าจะเลอะเทอะไปกันใหญ่ อาจจะลามไปถึงแผ่นเมนบอร์ดด้านล่างเสียเปล่าๆ เลยตัดสินใจปลดประจำการ


ไปถอยตลับเบอร์ 22 มาใหม่ คราวนี้เป็นตลับเต็ม (ราคาเกินครึ่งพัน...ใจหายวาบ!)พร้อมกับสั่งข้องอแบบมีเข็มมาด้วยเลย


มาดูตลับเบอร์ 22 กันก่อน หน้าตาของเดิมๆเป็นอย่างนี้





ตำแหน่งของช่องอากาศ จะเป็นดังนี้





สีหมึกของแต่ละช่อง ก็ตามที่ผมให้สีไว้ (ไม่ได้เรียงตามสติ๊กเกอร์ของตลับนะ...ตกม้าตายมาหลายคนแล้ว!)


ความพิเศษของช่องที่ 1,4,5 ก็คือ เขาได้ "เซาะ" ร่องที่มีความลึกเล็กน้อย สลับไปสลับมาไปบรรจบกับช่องแต่ละช่อง เพื่อจุดประสงค์ที่ว่า เมื่อปิดสติ๊กเกอร์ของตลับลงไปแล้ว อากาศจะสามารถวิ่งเข้าไปยังช่อง 1,4,5 ได้ เพื่อไปแทนที่น้ำหมึกที่ถูกใช้ไปนั่นเอง


ส่วนช่อง 2 และ 3 นั้น ทำท่าเซาะร่องไว้เหมือนกัน แต่ไม่ไปบรรจบกับปากช่อง คงเหลือเป็นพื้นที่เรียบๆรอบรูเจาะไว้เล็กน้อย


ช่องหมึกสีเหลือง จะเจาะออกมา 2 รู คือ 2 และ 4 
ช่องหมึกสีน้ำเงิน จะเป็น 3 และ 5 
สีแดงเป็นรู 1 ซึ่งมีรูเดียว ไม่มีปัญหา...


สาระสำคัญของการทำ INKTANK คือจะต้องไม่มีอากาศรั่วไหลที่ใดๆได้ นอกจากรูของช่องเล็กๆที่แท้งค์หมึกเท่านั้น


ดังนั้น จุดที่จะต่อกับฐานยางเพื่อเสียบข้องอของสายส่งน้ำหมึก ผมจึงเลือกใช้ 1,4,5 โดยต้องปิดรู 2 และ 3 ให้สนิท


หลังจากไตร่ตรองด้วยความรอบคอบ(หรือมักง่าย) ผมลงความเห็นว่า ผมควรจะเปิดสติ๊กเกอร์เฉพาะรูที่ต้องการใช้ดีกว่า กาวที่ติดมาจากโรงงานน่าจะแน่นหนาอยู่แล้ว ว่าแล้วผมก็จัดการใช้คัทเตอร์กรีดสติ๊กเกอร์ แบ่งส่วนออกมาได้หน้าตาดังนี้





คือตรงกลาง บริเวณรู 2 และ 3 ผมปล่อยสติ๊กเกอร์ปิดไว้อย่างเดิม ลอกออกเฉพาะส่วนบนและส่วนล่าง หลังจากนั้นก็จัดการเสียบฐานยาง เสียบข้องอลงไป แล้วก็ทดลองพิมพ์ (ลืมบอกไปว่า ผมได้เตรียมแท้งค์หมึก และเดินน้ำหมึกเข้าสายไว้เรียบร้อยแล้ว)


ปรากฎว่าพิมพ์ได้ เพราะหมึกเดิมในตลับยังมีอยู่ แต่พอหยุดพิมพ์ น้ำหมึกจะไหลย้อนลงมา เห็นเป็นช่องว่างในสายหมึก อยู่ประมาณ 1 ซม.


พอสั่งพิมพ์ หมึกก็จะถูกดูดเข้ามาเต็มสาย แต่พอหยุดพิมพ์ ก็ไหลย้อนลงไปที่เดิมทุกที นี่คืออาการของอากาศเข้าไปในระบบได้...!


ทุกจุด ผมมั่นใจว่าไม่มีรั่วไหลแน่ๆ จุดเดียวที่เป็นไปได้ก็น่าจะเป็น บริเวณรู 2 และ 3 ที่มีสติ๊กเกอร์โรงงานปิดอยู่เท่านั้น


หลังจากไตร่ตรองด้วยความรอบคอบ(อีกครั้ง)ผมจึงตัดสินใจ ลอกสติ๊กเกอร์ออกทั้งหมด แล้วตัดเทปพันสายไฟสีดำ ให้ได้ขนาดพอเหมาะ นำไปปิดแทน โดยพยายามปิดให้สนิทที่สุด คลึกแล้วคลึงอีกจนแสบนิ้ว โดยเฉพาะ บริเวณขอบๆรูที่เป็นพลาสติคเรียบๆ ต้องเน้นเป็นพิเศษ ได้หน้าตาออกมาดังนี้





ว่าแล้วก็จัดการสั่งพิมพ์อีกที และอีกที และอีกที... ใช้ได้แล้ว ไม่มีการไหลย้อนกลับให้เห็นอีกเลย


ทิ้งไว้ 2 ชั่วโมง พอใกล้จะลืมๆก็มาดูอีกที ก็ยังไม่มีการย้อนกลับ ทดลองพิมพ์ดู็ก็ออกครบถ้วนดี


ปิดเครื่อง-นอน-ตื่นมาตอนเช้า เปิดร้าน 9.00 น. ผ่านมา 7-8 ชั่วโมง ก็ยังไม่มีการไหลย้อนกลับใดๆ งานนี้ถือว่าผ่านแล้วครับ


Printer HP กับประสบการณ์อิ๊งค์แท้งค์
ที่บ้านผมใช้ D2460 ส่วนที่ทำงานมี 3745 และรุ่นอื่นๆที่หน้าตาคล้ายๆกัน ผมจับใส่อิ๊งค์แท้งค์ไปแล้ว 3 เครื่อง เนื่องจาก HP เป็นรุ่นที่ได้รับคำเตือนว่า ยุ่งยากและไม่คุ้ม ผมก็เลยต้องหาข้อมูลมากเป็นพิเศษ ซึ่งก็ยังไม่ 100% ที่เดียวนัก ต้องผ่านไปสักเดือน2เดือนจึงจะสรุปได้


มีอยู่ชุดหนึ่ง ที่ผมใช้แท้งค์แบบนี้

แท้งค์แบบนี้ จะใช้พื้นที่ทั้งหมดเก็บน้ำหมึก แต่จะทำ "ท่อ" กลมๆไว้ตรงกลาง เวลาใช้งาน จะปิดจุกใหญ่เอาไว้ แล้วเปิดจุกเล็ก คือเปิดท่อกลมๆตรงกลาง เพื่อให้อากาศดันน้ำหมึกไว้ในระดับหนึ่ง ตามหลักการแล้ว ตรงที่ผมชี้ "ระดับอ้างอิง" ไว้นั้น จะต้องอยู่ต่ำกว่าปลายข้องอ หรือบริเวณส่วนล่างของหัวพิมพ์ในเครื่อง


ตามหลัก(อีกที) ระดับน้ำหมึกทั้งหมด "น่าจะ" สูงเลยระดับอ้างอิงขึ้นมาได้ แต่ระดับน้ำหมึกในท่อกลมๆนั้น จะอยู่แค่ประมาณปลายๆท่อดังรูป


แต่พอเติมหมึกเข้าไปในแท้งค์แล้ว หมึกมีความทึบแสงพอสมควร ผมเลยไม่รู้ว่า ท่อกลมๆนี้ สามารถรักษาระดับแรงดันไว้ได้หรือเปล่า


ซ้ำร้าย...ถ้าปริมาณน้ำหมึกในแท้งค์ สูงเกินส่วนล่างของหัวพิมพ์ หมึกจะล้นออกหัวพิมพ์ทันที ไม่สามารถพิมพ์งานได้เลย


จึงขอสรุปเป็นการส่วนตัวว่า ถ้าเป็นแท้งค์ทรงตามรูปข้างบน ต้องไม่ให้ระดับน้ำหมึกทั้งหมด สูงเกินกว่าหัวพิมพ์ครับ


เมื่อสั่งแท้งค์รุ่นต่อไป ผมจึงเปลี่ยนมาใช้แบบรูปข้างล่างนี้ (แบบเดียวกับที่ใช้ที่บ้านอยู่ก่อนแล้ว)

แบบนี้แบ่งตัวแท้งค์เป็นช่องเล็กกับช่องใหญ่ การใช้งานปกติจะปิดช่องใหญ่ แล้วเปิดช่องเล็กไว้ ระดับหมึกในช่องใหญ่สูงเท่าไรก็ได้ ส่วนระดับหมึกในช่องเล็กนั้น ถ้าระบบไม่รั่ว น้ำหมึกจะถูกอากาศดันเอาไว้ที่เรี่ยๆพื้นแค่นั้น (ประมาณ 0.5 เซ็นต์)ซึ่งสามารถมองเห็นได้ชัดเจน ซึ่งผมว่า ง่ายต่อการตรวจสอบ เพราะวันนี้อาจดูดีไม่มีรั่ว แต่วันต่อๆไปก็ไม่แน่เหมือนกัน


ระดับตรงช่องเล็กนี้ จะต้องไม่สูงเกินส่วนล่างของตลับหมึกที่ติดตั้งอยู่ในเครื่อง มีผู้แนะนำไว้ว่า ให้ต่ำกว่าส่วนปลายของข้องอ ที่เสียบลงไปในตลับหมึก 1 นิ้ว แต่ผมว่า มองจากส่วนล่างของตลับก็ได้ คือให้ต่ำกว่าส่วนล่างของตลับหมึกประมาณ 1 นิ้วเข้าไว้

และแท้งค์แบบหลังนี้ น่าจะเหมาะกับ HP นะ ผมว่า เพราะใช้มาระยะหนึ่งแล้ว ยังไม่มีปัญหาใดๆเลย ก็ต้องรอดูกันต่อไป...


เพิ่มเติมครับ
ที่ทำงานได้ถอย HP1560 มา 1 ตัว พร้อมตลับ #21 และ #22 หน้าตาแบบนี้อีกแล้วครับ รู้สึกว่า HP จะออกมาหลายรุ่นทีเดียว ก็ไม่รู้ว่าแตกต่างกันอย่างไร ที่ทำงานผมก็ซื้อได้ซื้อดี 4-5 ตัวเข้าไปแล้ว(แต่ไม่ได้ซื้อพร้อมกัน) ครบรุ่นซะแล้วมั้ง

คราวนี้ไม่ให้พลาด จัดการทำ INKTANK ใส่กับตลับแถม #22 ทันที ข้อดีของตลับแถมก็คือ มีเฉพาะรู 1, 4, 5 ครับ ไม่ต้องห่วงเรื่องอากาศจะเล็ดลอดเข้าไปได้ ติดตั้งและทดสอบแล้วราบรื่นมาก ณ วันนี้ 13 พ.ย. 2551 เริ่มใช้งานครับ เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะจะกลับมารายงานครับผม สวัสดีครับ...


เคดิต http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=loongmit&month=08-11-2008&group=9&gblog=42

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น